Green Forward
ในขั้นต้น ได้มีการศึกษา ประมวล และสังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้วยเทคนิคทางระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยนำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี 2561 และปี 2565 ความหนาแน่นของแหล่งกำเนิดการจราจรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการปลดปล่อยคาร์บอนในพื้นที่ ความสมบูรณ์ของพืชที่ปกคลุมพื้นที่ ความหนาแน่นของแหล่งกำเนิดการจราจรในพื้นที่ และอุณหภูมิผิวพื้น ร่วมกับข้อมูลด้านสังคม เช่น ความหนาแน่นของประชากรผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ นำมาสังเคราะห์ร่วมกัน เพื่อสร้างชุดข้อมูลที่จะช่วยบ่งชี้ การออกแบบแผนงานในอนาคตเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงพื้นที่ของพื้นที่สีเขียว และรูปแบบการอยู่อาศัยในเรื่องการกระจายตัวของผู้คน พบว่าปรากฏการณ์เมือง 2 ฝั่ง มีทั้งข้อดีและข้อด้อยในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้คนเมืองแม่เหียะ
ข้อดี – การมีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่นันทนาการขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ ในระยะทางไม่ไกล ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 15 นาที ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าถึงที่ง่าย อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่เอื้อสำหรับกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพให้กับหลายช่วงวัย ถือว่าเป็นจุดแข็งของเมืองที่ควรได้รับการส่งเสริมต่อยอด
ข้อด้อย – การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ในพื้นที่อยู่อาศัยและย่านการค้าฝั่งตะวันออก มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอยู่น้อย และไม่มีพื้นที่ว่างเพื่อการพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะในอนาคต การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ดี มีคุณภาพจำต้องพึงพาพื้นที่ฝั่งตะวันตก และพึงพาการเดินทางโดยรถยนต์ ด้วยสภาพทางสัญจรหลักของเมืองแม่เหียะเป็นถนนขนาดใหญ่ และซุปเปอร์ไฮเวย์ การเดินทางจึงจำเป็นต้องใช้รถ ทั้งเพื่อความเหมาะสมในการสัญจร และความปลอดภัย การไม่มีระบบขนส่งมวลชน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยคาร์บอน ส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศของพื้นที่โดยรวม
--