Articles
บทความLow Carbon City ตอนที่ 1
1.โลกรวน คือคำไทย ที่แทนความหมายของ Climate Change เป็นคำที่ได้จากการประกวด โครงการ Words Change the World “คำพูดเปลี่ยนโลก” เกิดจากความร่วมมือของโครงการน่านแซนด์บอกซ์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ และโครงการรักษ์ป่าน่าน “โลกรวน” กลายเป็นคำเพื่อใช้ในการสื่อสารอย่างแพร่หลายทั้งในสื่อ และแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยสามารถสื่อสารเข้าใจได้โดยเฉพาะคำว่า “รวน” ที่สื่อสารได้เห็นภาพชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงไปจากสมดุล ครอบคลุมภาพรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความแปรปรวนของอุณหภูมิ ความแห้งแล้ง และพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงสภาพภูมิประเทศในส่วนต่างๆ ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำทะเลอุ่นขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบก และในทะเล ระดับน้ำทะเลยที่สูงขึ้น น้ำแข็งและธารน้ำแข็งบนพื้นที่สูงและขั้วโลกที่ลดลงการเกิดไฟป่า และอุทกภัย ฯลฯ
2. ก๊าซเรือนกระจก Greenhouse Gas (GHG) หมายถึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮ็กซาฟลูโอไรด์ ก๊าซไนโตรเจนไตร ฟลูออไรด์ และก๊าซอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
3.ความตกลงปารีส (The Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นความตกลงที่ตราขึ้นและเห็นชอบรับรองโดยประเทศสมาชิก 197 ประเทศ ในการประชุมสมาชิก UNFCCC ครั้งที่ 21 ในวันที่ 12ธันวาคม 2558 ณ กรุงปารีส ใจความสำคัญของความตกลงปารีสมีอยู่ 3 ข้อ
(1) ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตระหนักว่า ความพยายามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ
(2) เพิ่มพูนความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประคับประคองความคงทนต่อสภาพอากาศและการพัฒนาที่ก่อก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ด้วยแนวทางที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อการผลิตอาหาร
(3) ก่อให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินทุนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางไปสู่การพัฒนาที่ก่อก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและคงทนต่อสภาพอากาศ”
4. IPCC คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 195 ประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครทั่วโลก 1,000 คนเข้าร่วมทำงาน IPCC เป็นคณะทำงานจัดทำข้อสรุปองค์ความรู้ และข้อเสนอแนะว่าด้วยผลกระทบและความเสี่ยงของสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้จากการประมวลงานวิจัยและเอกสารวิชาการที่มีการตีพิมพ์ทุกปี
IPCC มีคณะทำงานหลัก 3 คณะ ได้แก่
(1) ประเมินแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ของระบบภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
(2) ประเมินความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ-สังคมและระบบทางธรรมชาติ ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน ผลกระทบทางบวกและลบของภาวะโลกร้อน และทางเลือกในการปรับตัว
(3) ประเมินทางเลือกในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อน
5.ระดับของอุณหภูมิของยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิพื้นผิวของโลก คือ ระดับอุณหภูมิที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ใช้เป็นจุดในการสังเกตและติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำค่าอุณหภูมิในห้วงเวลาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 1850-1900 เป็นค่าเฉลี่ยกลาง และวัดความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโดยให้ค่า + หรือ – เช่น ปี 2021 (2564) ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงจากระดับของอุณหภูมิของยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม อยู่ที่ +1.1-1.2 องศาเซลเซียส
6.โลกร้อนขึ้น 1 องศา 1.5 องศาเซลเซียส
ความกังวลขององค์กรระดับนานาชาติอย่าง IPCC และนานาประเทศสมาชิกถึงความพยายามในการลดอุณหภูมิโดยรวมลงเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมาปี 2021 และ 2022 อุณหภูมิโลกสูงกว่าระดับของอุณหภูมิของยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมราวขึ้น 1.1-1.2 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลคาดการณ์ความร้อนจะพุ่งสูงขึ้นอีกจนทะลุเพดานของขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ภายในช่วงทศวรรษ 2030 ตัวเลข 1-1.5 องศาเซลเซียสแลดูจะเป็นความต่างของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพภูมิกาศโลกในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ประเทศแถบละติจูดกลาง(พื้นที่ระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกทั้งใต้และเหนือ) จะสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส
โครงการตลาดคาร์บอนหรือคาร์บอนเครดิต
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นิยามความหมายของคาร์บอนเครดิตไว้ว่า คือ ผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การใช้พลังงานชีวภาพ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า) หรือผลการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การปลูกต้นไม้) ที่ได้รับรองและบันทึกในระบบทะเบียนของหน่วยงานเจ้าของมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะตกลงกันระหว่างประเทศที่จะทำการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต
- แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2023/01/20220525-carbon-credit-2-1.pdf)
- ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน? (https://www.the101.world/thailand-climate-policy/)