Articles

บทความ

Low Carbon City ตอนที่ 3

คาร์บอนเครดิตแบบไทยๆ

คาร์บอนเครดิต คือสิทธิที่เกิดจากการลดหรือกักเก็บปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินมาตรการ หรือโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม สิทธิหรือเครดิตนี้สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดคาร์บอนเครดิตให้กับองค์กรที่ประกอบการและเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก เพื่อสร้างสมดุล หรือควบคุมการการดำเนินงานขององค์กรให้ได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม 

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

การซื้อขายถ่ายคาร์บอนเครดิตสามารถดำเนินการได้ระหว่างองค์กรในประเทศ ต่างประเทศ และเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยการซื้อขายถ่ายโอนภายในประเทศเกิดขึ้นเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากการลดหรือควบคุมระดับการปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ของภาครัฐ ส่วนการซื้อขายถ่ายโอนระหว่างประเทศนั้นเป็นการใช้คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของอีกประเทศหนึ่งที่ทำข้อตกลงร่วมกัน

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไว้ดังนี้ 

(1) วัตถุประสงค์ภายในประเทศ” หมายความว่า การใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อขอรับการรับรองหรือ ขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการและโครงการของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ในการขอรับ การรับรองหรือขอรับสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก

(2) วัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ” หมายความว่า การใช้คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการที่ตั้งอยู่ ในประเทศไทยเพื่อแสดงผลการดําเนินงานหรือการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศหรือ

ภาคีอื่นใดภายใต้สนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ หรือของบุคคลที่มิใช่รัฐภายใต้ข้อกําหนดของ องค์การระหว่างประเทศ ข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคี หรือตามที่ประเทศไทยได้กําหนดให้เป็นการดําเนินการเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามแนวปฏิบัติที่กําหนดโดยที่ประชุมรัฐภาคี ซึ่งต้องได้รับอนุญาตตามความใน บทบัญญัติความตกลงปารีส

ตลาดคาร์บอนเครดิต คือตัวกลางและจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต มีการกำหนดราคาบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

ตามนิยามขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้แบ่ง ตลาดคาร์บอนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท 

1.ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) อย่างไรก็ดีผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ และ/หรือ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย

2.ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับการจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในตลาดด้วยความสมัครใจโดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target)

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้เริ่มต้นในปี 2557 ตามข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  เป็นรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO เป็นหน่วยงานให้การรับรองตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง จะเรียกว่า เครดิต TVERs สามารถนำไปใช้ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting)ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ปัจจุบันผู้ที่มีความต้องการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิต TVERs สามารถซื้อขายได้ในในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ในปี 2565 ที่ผ่านมา TGO ได้ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนา “Thailand Carbon Credit Exchange Platform” เพื่อใช้เป็นศูนย์หลักในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยโดยมี TGO เป็นผู้ให้คำรับรอง ซึ่ง Thailand Carbon Credit Exchange Platform เป็น Platform ซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ที่ระบบจะทำการเรียงลำดับและจับคู่สั่งซื้อขายให้โดยอัตโนมัติ

More Articles

บทความ